การชุมนุมทางเมืองกับการลงทุนในตลาดหุ้นไทย เหมือนจะเป็นของแสลงคู่กันมาทุกสมัย เพราะเมื่อไหร่ที่เกิดการรวมตัวชุมนุมทางการเมือง นักวิเคราะห์ในตลาดหุ้นส่วนใหญ่จะมีมุมมองในเชิงลบต่อการลงทุนอยู่เป็นประจำ
ทาง "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" จึงได้รวบรวมข้อมูล ว่าตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวในทิศทางใด เมื่อเกิดการชุมนุมทางการเมือง รวมถึงมุมมองของนักวิเคราะห์ ต่อบรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาล่าสุดที่เกิดขึ้นในขณะนี้
" พฤษภาทมิฬ " ... พ.ค.35
การชุมนุมเดือนพ.ค.35 เป็นอีกหนึ่งการชุมนุมประท้วงรัฐบาลที่เกิดการสูญเสียอย่างมาก ต้นเหตุมาจากการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.สุจินดา คราประยูร ซึ่งได้ผิดคำพูดว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากทำการรัฐประหารรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี 34 ส่งผลให้นักศึกษาได้ออกมาประท้วง ก่อนเพิ่มความเข้มข้นในการชุมนุนมช่วงเดือนพ.ค.35
ด้านผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย การชุมนุมครั้งตลาดหุ้นเริ่มมีแรงขายออกมาตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย. 35 ก่อนจะมาถึงจุดพีคของการชุมนุม คือการสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในช่วงวันที่ 17-20 พ.ค. โดยในช่วงเวลาการยกระดับและสลายการชุมนุนมครั้งนั้น ดัชนีลงมาจาก 732.89 จุด (15 พ.ค.35) มาที่ระดับ 653.13 จุด (20 พ.ค.35) หรือลดลง 79.76 จุด คิดเป็น 10.88%
"ม็อบเสื้อเหลืองยึดสนามบิน" ...พ.ย.51
หลังจากปี 35 ประเทศไทยห่างหายจากการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่มาได้ถึงปี 48 จนเกิดม็อบกลุ่มคนเสื้อเหลืองหรือ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ออกมาต่อต้านระบอบทักษิณ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น การชุมนุมของคนเสื้อเหลืองกินเวลายาวนานหลายปี และหลายช่วงเวลา จนปี 49 การชุมนุมดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดการรัฐประหารขึ้น
แต่เหตุการณ์ที่ตลาดทุนไทยจะอ่อนไหวกับการชุมนุมครั้งนี้มากที่สุด คือการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อเหลืองไปยึดสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง เมื่อวันที่ 24 พ.ย.51 เป็นเหตุทำให้นักลงทุนแห่เทขายหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบินและท่องเที่ยวออกมาอย่างหนัก ซึ่งในเดือนพ.ย.51 ดัชนีฯ ปรับลดลงตั้งแต่ต้นเดือน มาจนถึงเหตุการณ์ยึดสนามบินถึง 98.43 จุด หรือ 20.56%
"สลายชุมนุนมเสื้อแดง" ... พ.ค.53
หลังจากม็อบเสื้อเหลืองซาลง การปกครองของไทยเปลี่ยนขั้วอำนาจอีกครั้ง โดยพรรคร่วมรัฐบาลเปลี่ยนมือจากกลุ่มทักษิณ มาอยู่ในมือพรรคประชาธิปัตย์ ที่ส่งนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ส่งผลให้เกิดกลุ่มคนเสื้อแดงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในนาม "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ " หรือนปช.เกิดขึ้น จนเกิดการชุมนุมประท้วงรัฐบาลอยู่หลายรอบ โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 52 จากนั้นเพียง 1 ปีถัดมาในช่วงเดือนมี.ค.53 กลุ่มคนเสื้อแดงได้กลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง จนนำไปสู่เหตุการณ์สำคัญคือการสลายการชุมนุมในช่วงเดือนพ.ค. 53
แม้ว่าตลาดหุ้นไทยในช่วงการชุมนุมจะดูเหมือนไม่รับข่าวเชิงลบมากนัก เนื่องจากขณะนั้นภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกต่างฟื้นตัวขึ้นตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติซัพไพร์มในปี 51 แต่หากนับเฉพาะช่วงเดือนพ.ค.53 ที่การชุมนุมเข้มข้นถึงจุดพีค ต่อเนื่องมาถึงการสลายการชุมนุมตลาดหุ้นไทยที่กำลังฟอร์ตัวขึ้นมา ก็ถึงกับเจอแรงขายกดดันออกมาอย่างหนักเช่นกัน โดยในเดือนดังกล่าวตลาดหุ้นไทยปรับลดลงไป 78.2 จุด หรือ 9.79%
"กปปส." จากม็อบนกหวีดสู่รัฐบาลทหาร ...พ.ค.57
อีกหนึ่งการชุมนุมครั้งใหญ่ของไทยในปลายปี 56 ต่อเนื่องจนถึงปี 57 ในนามกลุ่ม กปปส. หรือ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีแกนนำมาจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยใช้การเป่านกหวีด เป็นสัญลักษณ์การชุมนุม
การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมแบบข้ามปี ตลาดหุ้นมีความกังวลกับสถานการณ์อยู่ 2 ช่วงใหญ่ ครั้งแรกคือช่วงสิ้นปี 56 ที่สถานการณ์การชุมนุมส่อแววยืดเยื้อกระทบการท่องเที่ยวช่วงปีใหม่ ที่เป็นช่วงพีคของฤดูกาล ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มไร้ปัจจัยหนุน กดดันให้ดัชนีลงมาจากบริเวณ 1,485 จุด ในเดือนต.ค.มาปิดปี 56 ที่ 1,230 จุด หรือลดลงถึง 17% โดยประมาณ
ส่วนอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญ ของการชุมนุมในครั้งนี้ ที่กระทบกับตลาดหุ้นไทยไม่แพ้กันคือช่วงเดือน พ.ค.57 ที่การชุมนุมยกระดับเข้มข้นมากขึ้น จนไปสู่การประกาศทำรัฐประหารในวันที่ 22 พ.ค.57 ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น โดยเดือนพ.ค. 57 ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงจากจุดสูงสุดถึงวันทำรัฐประหารไป 51 จุด หรือประมาณ 3.58%
"เยาวชนปลดแอก" หากยืดเยื้อ SET อาจดิ่ง 15-20%
ในปี 63 นี้กลิ่นอายและบรรยากาศการชุมนุมทางการเมืองได้กลับมาอีกครั้ง หลังจากที่ช่วงปลายเดือนก.ค.63 กลุ่มนักศึกษาทั่วประเทศ เริ่มรวมกลุ่มเพื่อชุมนุมประท้วงรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย หลังจากมองว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันใช้อำนาจในทางที่มิชอบ แม้ว่าการชุมนุมของนักศึกษาจะยังไม่มีความยืดเยื้อ หรือมีการปะทะที่รุนแรงกับเจ้าหน้าที่รัฐฯ เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา แต่นักวิเคราะห์ยังคงมองว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการชุมนุมเท่านั้น และเริ่มมีมุมองว่าอาจจะกระทบต่อตลาดหุ้นไทยในอนาคตได้ โดยเฉพาะการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 ก.ย.63 นี้
บริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ประเมิน 3 ทางออกสำหรับการชุมนุนในครั้งนี้
1 . กรณีที่ดีที่สุด รัฐบาลตอบรับข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อนำไปสู่การเจรจา – คาด SET INDEX กลับไปเคลื่อนไหวในกรอบ 1,350-1,380 จุด จากการลดภาวะ Underperform ราว 3-5% เมื่อเทียบกับภูมิภาค
2.กรณีที่เป็นกลาง การชุมนุมยืดเยื้อ แต่ไม่มีความรุนแรง - คาด SET INDEX แกว่งลงตามกรอบ Parallel Downtrend Channel หา 1,250-1,270 จุด อิงจากการชุมนุมใหญ่ 4 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2549 ที่ SET INDEX ปรับตัวลงจากจุดสูงสุดในแต่ละรอบเฉลี่ย -13% (สมมติฐานอิงจากการเคลื่อนไหวเฉพาะ SET INDEX ที่ยังไม่ลดทอนการเคลื่อนไหวเชิงเปรียบเทียบกับภูมิภาค)
3.กรณีแย่ที่สุด การชุมนุมยืดเยื้อและมีความรุนแรง - คาด SET INDEX ทรุดตัวลง 15-20% จากจุดสูงสุดของรอบหากรอบ 1,160-1,230 จุด (อิงพฤษภาทมิฬ)
จากนี้ต้องจับตาดูว่า การชุมนุมใหญ่ 19 ก.ย.63 ของกลุ่มนักศึกษา จะเป็นจุดเริ่มต้นของการชุมนุมที่ยืดเยื้อหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกจะเป็นในลักษณะวันต่อวัน แต่หากเริ่มเห็นสัญญาณการชุมนุมแบบข้ามคืนเมื่อไหร่ อาจจะทำให้เกิดความกังวลถึงสถานการณ์ที่ยิดเยื้อได้ ซึ่งจะมีความเป็นไปได้สูงที่ตลาดหุ้นไทย ที่ยังดูเหมือนไม่หายมึนจากโควิด-19 อาจจะถูกกระแสการเมืองเข้ามากดดันซ้ำอีกก็เป็นได้
No comments:
Post a Comment