ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ หลังจากใช้เวลาไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เกือบหนึ่งเดือน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการอย่างเป็นทางการเพื่อบริหารจัดการภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว เป็นมูลค่ากว่า 3.32 แสนล้านบาท (ข้อมูล ณ เดือน มิ.ย. 2563)
ศาลล้มละลายเริ่มไต่สวนครั้งแรกวันที่ 17 ส.ค. และนัดไต่สวนเพิ่มเติมอีกสองครั้งในวันที่ 21 ส.ค. และวันที่ 25 ส.ค. ตามลำดับ เนื่องจากมีลูกหนี้บางส่วนคัดค้านแผนฟื้นฟู อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร บมจ. การบินไทยยืนยันว่าเจ้าหนี้ส่วนใหญ่เห็นชอบกับแผนฟื้นฟูฉบับนี้
วันนี้ (14 ก.ย.) ศาลล้มละลายกลางนัดอ่านคำสั่งฟื้นฟูกิจการของการบินไทยและแต่งตั้งคณะผู้จัดทำแผน ซึ่งศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการแล้ว
ทั้งนี้การทำแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวเพื่อปรับโครงสร้างหนี้และปรับโครงสร้างกิจการการบริหารองค์กรให้เหมาะสมกับสภาพการแข่งขัน เพื่อให้มีรายได้สามารถชำระหนี้เจ้าหนี้ได้
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. การบินไทย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหลังรับทราบคำสั่งศาลล้มละลายกลางว่า คณะทำแผนฟื้นฟูกิจการคาดว่าการเจรจากับเจ้าหนี้จะแล้วเสร็จไม่เกินไตรมาสที่สี่ของปีนี้ และแผนฟื้นฟูกิจการก็จะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีเช่นกัน และจะใช้เวลาดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้และองค์กรตามแผนฟื้นฟูกิจการจะสิ้นสุดภายในระยะเวลา 5 ปี
จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้
คำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการและแต่งตั้งผู้บริหารแผนเพื่อดำเนินการตามแผนฟื้นฟูของศาลล้มละลายกลางเป็นสิ่งที่สายการบินแห่งชาติรอคอยมานานหลายเดือน นับตั้งแต่ตัวแทนบริษัทได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 26 พ.ค.
หลังจากศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ กรมบังคับคดีจะดำเนินการแจ้งเจ้าหนี้ทุกรายให้ทราบถึงขั้นตอนการลงทะเบียนเพื่อยื่นคำขอรับชำระหนี้ โดยเจ้าหนี้จะสามารถดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ หรือจะนำเอกสารมาที่ บมจ. การบินไทยสำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อที่การบินไทยและกรมบังคับคดีจะช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหนี้ในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ออนไลน์ โดยเจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 1 เดือน นับแต่คำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ลูกหนี้รายย่อยคัดค้านแผน เหตุไม่เชื่อมั่น บ.ที่ปรึกษาทำแผน
หากพิจารณาในสัดส่วนจากมูลหนี้แล้ว เจ้าหนี้ที่คัดค้านแผนมี 15 รายเท่านั้นคิดเป็นสัดส่วนราว 1-2% ของมูลหนี้ ด้านนายชาญศิลป์เปิดเผยว่าลูกหนี้ส่วนมากราว 100 ราย รวมทั้ง กระทรวงการคลัง คิดเป็นสัดส่วน 54.5% ของจำนวนหนี้ตามงบการเงินไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2563 ของการบินไทย เห็นชอบกับแผนการฟื้นฟูกิจการ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นหลัก ๆ ที่กลุ่มเจ้าหนี้รายย่อยที่คัดค้านได้ขึ้นเบิกความต่อศาล ได้แก่ ความน่าเชื่อถือ คุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์และค่าตอบแทนที่การบินไทยเสนอมาคือ บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด
ในประเด็นนี้ รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. การบินไทย ยืนยันว่าบริษัท อีวายฯ เป็นบริษัทผู้ทำแผนที่มีความน่าเชื่อถือ เพราะเป็นบริษัทเครือข่ายของบริษัท อีวาย คอร์เปอร์เรท เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัท BIG4 หรือหนึ่งในสี่ผู้ให้บริการรายใหญ่ระดับโลกที่มีชื่อเสียงทางด้านการสอบบัญชีและการเงิน และมีสำนักงานเครือข่ายอยู่ทั่วโลก พร้อมทั้งกล่าวว่าการไต่สวนคำร้องฯ ที่ผ่านมาเป็นไปอย่างราบรื่นและมีแนวโน้มที่ดี
แต่เดิมมีเจ้าหนี้ทั้งหมด 16 รายคัดค้านแผนฯ ประกอบด้วย เจ้าหนี้รายย่อยอย่างน้อย 10 ราย สหกรณ์ออมทรัพย์วชิรพยาบาล และบริษัท ทิพยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) รวมทั้งเจ้าหนี้เรื่องตั๋วโดยสารที่ขอรับเงินคืนแล้วยังไม่ได้ แต่ต่อมาในการไต่สวนครั้งที่สองในวันที่ 21 ส.ค. บมจ. ทิพยประกันชีวิต ได้ถอนคำคัดค้านออกไปแล้ว
Getty Images
-
28,030 ล้านบาทขาดทุนสุทธิ ( 1 ม.ค. - 30 มิ.ย. 2563)
-
เพิ่มขึ้น 336.5%จากช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว
-
รายได้รวม40,493 ล้านบาท
-
ลดลงจากช่วงเดียวกันในปีก่อน56.1%
อย่างไรก็ตาม คาดว่า การทำแผนจะใช้เวลาราว 1 ปี หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการดำเนินการตามแผนซึ่งจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฯ แต่สามารถขยายได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี
สำหรับรายนามผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการที่การบินไทยเสนอต่อศาลล้มละลายกลางประกอบด้วย บริษัท อีวาย ฯ ร่วมกับกรรมการบริษัทอีก 6 คน คือ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายบุญทักษ์ หวังเจริญ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร
ปัญหาคืนตั๋วเครื่องบิน
นับเป็นประเด็นปัญหาที่ลูกค้าของการบินไทยปวดหัวไม่น้อย แต่จากคำชี้แจงของการบินไทย แบ่งการจัดการปัญหาดังกล่าวลูกค้าที่ออกบัตรโดยสารไปแล้วเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มที่ขอคืนค่าบัตรโดยสาร (Refund) ไปแล้ว 331,996 ราย มีทางเลือก 2 ทาง คือ หากต้องการได้รับเงินคืนอาจจะต้องรอดูเงื่อนไขจากคณะผู้ทำแผน ซึ่งได้หารือกันเกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขและรายละเอียดส่วนนี้ไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว หรือว่าหากว่าลูกค้าต้องการใช้สิทธิเก็บบัตรโดยสารไว้ใช้เดินทางกับการบินไทยหรือไทยสมายล์ได้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564 หรือจะแลกเป็น Travel Voucher ซึ่งสามารถนำมาใช้แทนเงินสดในการออกบัตรโดยสารของการบินไทยหรือไทยสมายล์ได้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2565
2. กลุ่มที่ถือบัตรโดยสาร แต่ยังไม่ได้เดินทางและยังไม่ได้ดำเนินการขอคืนค่าบัตรโดยสาร สามารถรักษาสิทธิเก็บบัตรโดยสารไว้เดินทางกับการบินไทยและไทยสมายล์ได้จนถึงสิ้นปี 2564 หรือสามารถแลกเป็น Travel Voucher ใช้แทนเงินสดในการออกบัตรของสายการบินทั้งสองได้จนถึงสิ้นปี 2565
"หลังจาก" - Google News
September 14, 2020 at 11:30AM
https://ift.tt/3mhD4LZ
การบินไทย: จะเกิดอะไรขึ้นหลังศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้การบินไทยเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ - บีบีซีไทย
"หลังจาก" - Google News
https://ift.tt/3esKVCL
No comments:
Post a Comment