Pages

Thursday, July 30, 2020

อาชีวะช่วยชาติ: นศ.อาชีวะ 2 กลุ่มประกาศปกป้องสถาบัน กับ พิทักษ์ประชาชน - บีบีซีไทย

utaksate.blogspot.com

ผู้ชุมนุมกลุ่มอาชีวะช่วยชาติ

ประชาชนที่นิยามตัวเองว่าเป็น "นักเรียนอาชีวะ" สองกลุ่มซึ่งมีความเห็นแตกต่างทางการเมืองได้ออกมาเคลื่อนไหววันเดียวกัน กลุ่มหนึ่งประกาศพิทักษ์ประชาชน ขณะที่อีกกลุ่มขอปกป้องสถาบัน

นักศึกษาในนาม "กลุ่มอาชีวะช่วยชาติ" และประชาชน รวมตัวที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งแต่เวลา 14.00 น. ประกาศเคลื่อนไหวปกป้องสถาบันกษัตริย์

"กลุ่มอาชีวะช่วยชาติจะเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมให้ข้อมูลที่แท้จริง ที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และเปิดเผยเจตนาที่แท้จริงของผู้ที่อยู่เบื้องหลังใช้เยาวชนในการล้มล้างสถาบันฯ" ทศพล มนูญญรัตน์ ตัวแทนกลุ่มอาชีวะช่วยชาติ และตัวแทนศิษย์เก่ามีนบุรีเทคนิค ประกาศในแถลงการณ์ที่กล่าวถึงการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "เยาวชนปลดแอก" เมื่อเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา

แกนนำจัดกิจกรรมได้เลือกใช้จุดเดียวกับที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลนัดชุมนุมใหญ่ครั้งแรกเมื่อ 10 วันก่อน

แถลงการณ์ระบุว่า การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกและกิจกรรมต่อเนื่องหลังจากนั้น เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อ "ท้าทาย ต่อต้าน หรือกระทั่งล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์..." แม้มีข้อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ลาออก ยุบสภา และแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย แต่ปรากฏหลักฐานข้อเท็จจริงว่ามีการแสดงออกเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ อันเป็นเหตุผลที่ทางกลุ่มต้องมาแสดงจุดยืน

ภายหลังการประกาศจุดยืนผ่านแถลงการณ์ที่จบลงภายในเวลาไม่ถึง 15 นาที กลุ่มเยาวชนในชุดเครื่องแบบอาชีวะ จำนวนหนึ่งได้เดินทางกลับทันที โดยยังมีประชาชนทั่วไปที่สวมใส่เสื้อสีเหลืองชูป้ายข้อความปกป้องสถาบันฯ และพระบรมฉายาลักษณ์ รวมตัวอยู่ในบริเวณทางเท้า

ผู้ชุมนุมได้ร่วมกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และกล่าวทรงพระเจริญร่วมกัน และชูสัญลักษณ์ 3 นิ้ว นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง ซึ่งแกนนำชี้แจงว่าหมายถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

พ.ต.อ. อัศวยุทธ นุชพุ่ม รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล 6 ประเมินว่ามีผู้ร่วมชุมนุมกับกลุ่มอาชีวะราว 80 คน และยังมีกลุ่มชาวนาที่มาสมทบภายหลังอีกประมาณ 30 คน

ขณะที่เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวเป็นวันที่สองติดต่อกันว่า "เป็นห่วงและกังวล" เรื่องการชุมนุม จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปพิจารณาการใช้กฎหมายให้เหมาะสม

ผู้ชุมนุมกลุ่มอาชีวะช่วยชาติ

นายทศพลซึ่งระบุว่าเป็นผู้ดูแลเพจกลุ่มอาชีวะช่วยชาติ กล่าวว่ากลุ่มของเขาไม่ได้ต่อต้านการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเยาวชนปลดแอก และไม่มีความเห็นต่อข้อเรียกร้อง 3 ข้อ แต่เห็นว่าการชุมนุมต้องไม่มีการกระทำที่แสดงออกถึงการก้าวล่วงสถาบัน

"สิ่งเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องและการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่อย่างใด และสุ่มเสี่ยงทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมไทย แต่กลุ่มผู้ชุมนุมกลับบ่ายเบี่ยง ไม่รู้ไม่เห็น"

แกนนำผู้อ่านแถลงการณ์กล่าวว่ากลุ่มอาชีวะช่วยชาติรวมตัวกันวันนี้เพื่อแสดงจุดยืน แต่ยังไม่สามารถตอบได้ถึงการเคลื่อนไหวหลังจากนี้ แต่คาดว่าไม่ใช่การออกมาชุมนุมเพราะเกรงว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ

เขากล่าวว่าทางกลุ่มจะติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนนักศึกษาอย่างใกล้ชิดและขอให้หน่วยงานของรัฐบาลที่ติดตามสอดส่องการใช้โซเชียลมีเดีย พิจารณาดำเนินการข้อความต่าง ๆ ที่มีลักษณะจาบจ้วงสถาบันกษัตริย์ด้วย

ต่อคำถามว่าการออกมาของกลุ่มซึ่งมีความเห็นต่างกันจะซ้ำรอยความรุนแรงในประวัติศาสตร์หรือไม่ ทศพลกล่าวว่า "ไม่มีเช่นนั้น" และ "เป็นเรื่องของอดีต" ส่วนจุดยืนการเคลื่อนไหวจะเดินด้วยแนวทางสันติวิธีอย่างไร แกนนำกลุ่มอาชีวะช่วยชาติ ระบุว่าขึ้นอยู่กับสถานการณ์

ทศพลกล่าวเพิ่มเติมว่าสิ่งที่อยากบอกนักศึกษาในฐานะตัวแทนกลุ่มอาชีวะช่วยชาติคือ "ระวังตัวให้ดี" แต่ในฐานะประชาชนไทยคนหนึ่งเขาอยากบอกว่า "หยุดซะ"

ผู้ชุมนุมกลุ่มอาชีวะช่วยชาติ

"สถาบันกษัตริย์ไม่เคยทำร้ายประชาชน"

นายธารา ทองคำดี ศิษย์เก่ากนกอาชีวะ อายุ 59 ปี ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มอาชีวะช่วยชาติตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2556 บอกกับบีบีซีไทยว่า การรวมตัววันนี้มีนักเรียนอาชีวะที่เป็นศิษย์ปัจจุบันเข้าร่วมราว 30% ของผู้ร่วมกิจกรรมทั้งหมด

เขาบอกว่าเหตุผลที่ออกมาเคลื่อนไหวเพราะเห็นว่ากลุ่มเยาวชนได้รับข้อมูลที่ผิดพลาดจากคนบางกลุ่มทำให้มีความเห็นต่อสถาบันในทางที่ไม่ดี

"เราไม่ได้มาเพื่อเชียร์รัฐบาล หรือเชียร์ฝ่ายค้าน แต่เห็นภาพที่ชูแล้วเราไม่สบายใจ...เราเห็นว่าประเทศไทยต้องมีกษัตริย์ สถาบันกษัตริย์ไม่เคยทำร้ายประชาชน"

ธาราบอกว่า เขาเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษาหลายเรื่อง เช่น การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แต่เห็นว่าหากไม่พอใจรัฐบาลก็น่าจะรออีกสามปี

บีบีซีไทยสอบถามผู้ชุมนุมอีกส่วนหนึ่ง ต่างบอกตรงกันว่าออกมาร่วมกิจกรรมวันนี้เพราะต้องการปกป้องสถาบัน ต่อไปนี้เป็นความเห็นของผู้ชุมนุมบางส่วนต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชน นักเรียน นิสิตนักศึกษา

"แรง...โซเชียลทุกอย่างโจมตีสถาบัน คนที่ออกมาชุมนุมก็ยังเขียนป้ายจาบจ้วง"

"จะไล่นายกฯ ไล่ใครก็แล้วแต่ ไล่ไปเลย แต่อย่าแตะต้องสถาบันฯ"

"อยากจะบอกให้น้อง ๆ อย่าไปเชื่อโซเชียลที่ปลุกปั่น หรือบุคคลที่ชี้นำ"

"ไม่ค่อยเชื่อว่าเป็นพลังบริสุทธิ์"

ผู้ชุมนุมกลุ่มอาชีวะช่วยชาติ

กลุ่มอาชีวะช่วยชาติ

ก่อนหน้านี้ บีบีซีไทยได้ติดต่อไปยังบุคคลที่บอกว่าเป็น "แกนนำรุ่นแรก" ของกลุ่มอาชีวะช่วยชาติ โดยเขาให้เหตุผลว่าทางกลุ่มจำเป็นต้องออกมาอีกครั้ง หลังจากภารกิจปกป้องสถาบันจบลงในช่วงการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปี 2557

"ทางกลุ่มไม่ได้จะไปเผชิญหน้าหรือว่าปะทะ แค่อ่านแถลงการณ์จุดยืนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วแยกย้ายกลับบ้าน" แกนนำรุ่นแรกบอกกับบีบีซีไทย

"แกนนำรุ่นแรก" ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อเพราะความกังวลว่าจะถูกโจมตี เล่าที่มาที่ไปว่า กลุ่มอาชีวะช่วยชาติก่อตั้งเมื่อปี 2556 ในสมัยรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะ "ตอนนั้นมีคนจาบจ้วงสถาบันเยอะ แต่ภาครัฐไม่สนใจดำเนินคดี" กิจกรรมทางการเมืองครั้งแรกของกลุ่มนี้เกิดขึ้นที่สวนลุมพินี ก่อนการปรากฏตัวของผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่าคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ในอีก 4 เดือนต่อมา

ผู้ชุมนุมกลุ่มอาชีวะช่วยชาติ

ศิษย์เก่าของกลุ่มอาชีวะช่วยชาติ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของคณะทำงานรุ่นปัจจุบัน บอกว่า ในช่วงเริ่มต้นมีการรวมตัวของนักเรียนอาชีวะประมาณ 2,000 คน จาก 102 สถาบัน หลังจากนั้นกลุ่มได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่ม กปปส. และเมื่อมีการเลือกตั้งปี 2562 สมาชิกต่างแยกย้ายลงไปทำงานการเมืองตามพรรคต่าง ๆ

"ในช่วงนี้มีเรื่องเกี่ยวกับโจมตีสถาบัน จึงต้องออกมาปกป้อง" ที่ปรึกษากลุ่มอาชีวะช่วยชาติกล่าว

อดีตโฆษกกลุ่มอาชีวะรุ่นแรก เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรครวมพลังประชาชาติไทย

จากการสืบค้นข้อมูลบนเพจ กลุ่มอาชีวะช่วยชาติ พบว่าการเคลื่อนไหวช่วงปี 2556-2558 มีนายดนัย ทิพย์ยาน เป็นโฆษกกลุ่ม

เขาเคยปรากฏตัวบนเวทีปราศรัยของ กปปส. และเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.นครศรีธรรมราชของพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. เป็นผู้ก่อตั้ง แต่สอบตก

เดือน ก.ค. 2558 หรือหลังรัฐประหารราวหนึ่งปี ปรากฏความเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้ เข้าให้กำลังใจ พล.อ. ประยุทธ์ โดยเห็นว่า คสช. ทำให้ประเทศสงบขึ้น มั่นคงขึ้น และต้องการให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ตัวแทนกลุ่มคนหนึ่งกล่าวด้วยว่า "การออกมาครั้งนี้ เพื่อให้ท่านรู้ว่าท่านไม่ได้โดดเดี่ยว"

ความเคลื่อนไหวของกลุ่มอาชีวะฯ ในเวลานั้น เกิดขึ้นอย่างคู่ขนานกับกลุ่มนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่ออกมาต่อต้าน คสช. ในวาระหนึ่งปีรัฐประหาร

"อาชีวะเพื่อประชาชน" ประกาศยืนเคียงข้าง นศ. จนกว่าจะยุบสภา

ขณะที่อดีตนักเรียนอาชีวะอีกกลุ่มที่ใช้ชื่อว่ากลุ่ม "อาชีวะเพื่อประชาชน" และกลุ่ม "ฟันเฟืองประชาธิปไตย" หลายสิบคนได้เข้าร่วมการชุมนุมกับนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ย่านธนบุรี โดยให้เหตุผลว่า "เพื่อแสดงจุดยืนเคียงข้างฝ่ายประชาธิปไตย" พร้อมย้ำว่าความเลวร้ายของเผด็จการคือบริหารประเทศไม่เป็น จนทำให้ประชาชนต้องประสบปัญหาปากท้อง

บึ้ง อดีตนักเรียน รร.อินทรอาชีวะ ซึ่งปัจจุบันปิดทำการไปแล้ว กล่าวกับบีบีซีไทยว่า เหตุที่ต้องออกมาเคลื่อนไหวเพราะ "อีกฝ่ายพยายามยัดเยียดข้อกล่าวหาเรื่องการจาบจ้วงสถาบันให้นักเรียนนักศึกษา ทั้งที่ข้อเรียกร้องของพวกเขา 3 ข้อ เป็นการเรียกร้องต่อรัฐบาล ไม่มีส่วนไหนเกี่ยวข้องกับสถาบันเลย

นักศึกษาอาชีวะซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มฟันเฟืองประชาธิปไตยติดตั้งป้ายประกาศจุดยืน

"ฝ่ายประชาธิปไตยไม่เคยคิดล้มล้าง แต่พอมีใครต่อต้านรัฐบาลเผด็จการเข้าหน่อย ก็มักใช้เรื่องสถาบันมากล่าวหาและใส่ร้าย หวังให้เกิดเหตุการณ์แบบ 6 ตุลา 2519" ชายวัย 47 ปี ผู้เป็นศิษย์เก่า รร.อาชีวะ กล่าว

เขาบอกด้วยว่า จะเคลื่อนไหวร่วมกับขบวนการนักศึกษาจนกว่านายกฯ จะยุบสภา แต่ยืนยันว่าอาชีวะไม่เท่ากับความรุนแรง และขอสังคมไม่ต้องกังวล

"ไก่โอ๊คร้องโหยหวน" ขอรัฐบาลฟังเสียงประชาชนบ้าง

ในเวลาไล่เลี่ยกัน เสียงฮัมเพลง "แฮมทาโร่" ภาคดัดแปลงเนื้อร้องเพื่อใช้ต่อต้านรัฐบาล ได้ดังขึ้น

"วิ่งนะวิ่งนะแฮมทาโร่ ของอร่อยที่สุดก็คือ.... ภาษีประชาชน ยุบสภา ๆ ๆ..."

นี่ถือเป็นอีกครั้งที่หนูแฮมสเตอร์ ตัวการ์ตูนญี่ปุ่นขวัญใจเยาวชนได้ออกมาโลดแล่นในพื้นที่การเมืองไทย ผ่านผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่าแนวร่วมนวชีวิน หลังเคยจัดกิจกรรม "วิ่งกันนะแฮมทาโร่" ครั้งแรกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 26 ก.ค. ที่ผ่านมา มาวันนี้พวกเขาได้ยกพลไปชุมนุมภายใน มจพ.

นักเรียนหญิงชั้นมัธยม 5 คนหนึ่ง กล่าวกับบีบีซีไทยว่า เหตุที่มาร่วมกิจกรรม เพราะต้องการ "แสดงจุดยืนของตัวเอง" หลังจากเคยถูกแม่พาไปร่วมชุมนุมการเมืองเมื่อปี 2557

หากคนรุ่นก่อนอธิบายภาพการเมืองไทยว่าเป็น "วงจรอุบาทว์" หรือ "วัฏจักรที่ล้มเหลว" ภาพในหัวของคนรุ่นใหม่อย่างเธอก็ไม่ต่างกัน เพราะเป็นเผชิญกับรัฐประหาร 2 ครั้งในชีวิต ในปี 2549 เธอมีอายุเพียง 2 ขวบ และ 2557 เพิ่งเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษา เพียงแต่คนรุ่นใหม่ก็เลือกสื่อสารในแบบของตัวเอง โดยเปรียบเป็นแฮมสเตอร์ที่ถูกบังคับให้อยู่ในกรง แล้วต้องวิ่งวนอยู่ในกงล้อ

นักศึกษาร่วมกิจกรรม "วิ่งกันนะแฮมทาโร่" ภายใน มจพ.

"แฮมสเตอร์ในกรง ก็เปรียบเหมือนประชาชนที่ถูกกดทับ ไม่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเต็มที่ แม้เราเอาการ์ตูนมาสื่อ เพราะเป็นสิ่งร่วมสมัยของคนรุ่นเรา แต่ความเคลื่อนไหวของเราเป็นเรื่องจริงจัง ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ" ผู้ชุมนุมวัย 17 ปีกล่าว

สำหรับการ์ตูนเรื่อง "แฮมทาโร่ แก๊งจิ๋วผจญภัย" วาดโดย ริสึโกะ คาวาอิ นักวาดการ์ตูนชาวญี่ปุ่น โดยเข้ามาฉายทางฟรีทีวีไทยครั้งแรกปี 2548

นอกจากการ "วิ่งแฮมทาโร่" ผู้จัดการชุมนุมยังแจก "ไก่โอ๊ค" ให้กับผู้เข้าร่วมได้บีบเค้นในระหว่างวิ่ง ซึ่งเยาวชนหลายคนระบุตรงกันว่าเสียงไก่ที่ร้องโหยหวนครวญครางเป็นเหมือนเสียงของประชาชนที่รัฐบาลไม่เคยฟัง

การชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่รู้จักในชื่อ "แฟลชม็อบ" ภาค 2 เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 18 ก.ค. โดยผู้จัดการชุมนุมที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มเยาวชนปลดแอก โดยถือเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดนับจากรัฐประหารปี 2557 จากนั้นได้เกิดการชุมนุมย่อย ๆ เรื่อยมาในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ก่อนที่กลุ่มเยาวชนปลดแอกจะนัดเคลื่อนไหวอีกครั้งในวันที่ 1 ส.ค.

ตุ๊กตา "ไก่โอ๊ค"

Let's block ads! (Why?)



"หลังจาก" - Google News
July 30, 2020 at 07:45PM
https://ift.tt/30VlPGw

อาชีวะช่วยชาติ: นศ.อาชีวะ 2 กลุ่มประกาศปกป้องสถาบัน กับ พิทักษ์ประชาชน - บีบีซีไทย
"หลังจาก" - Google News
https://ift.tt/3esKVCL

No comments:

Post a Comment