รายงานการพบเชื้อไวรัสโคโรนาในตัวนิ่มและข้อสันนิษฐานว่ามันอาจเป็นพาหะตัวกลางที่นำเชื้อโรคโควิด-19 จากค้างคาวมาสู่คน อาจช่วยชีวิตสัตว์ป่าชนิดนี้จากขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าและการถูกนำเกล็ดของมันมาผสมเป็นยาตามตำรับยาแพทย์แผนจีน
กลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่าจากหลายประเทศ รวมทั้ง WWF ประเทศไทยต่างแสดงความยินดีที่ทางการจีนยกระดับสถานะของตัวนิ่ม (pangolin) จากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 2 เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 ซึ่งได้รับความคุ้มครองระดับสูงสุดตามกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าของจีนเมื่อต้นเดือน มิ.ย.นี้
ล่าสุดสื่อจีนรายงานเมื่อวานนี้ (9 มิ.ย.) ว่า ทางการจีนได้ถอนเกล็ดตัวนิ่มออกจากตำรับยาแพทย์แผนโบราณด้วย เนื่องจากกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าของจีนห้ามบริโภคหรือใช้ประโยชน์ใด ๆ จากสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1
กลุ่มอนุรักษ์เชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้การลักลอบค้าตัวนิ่มซึ่งจัดเป็น "อาชญากรรมข้ามชาติ" ลดลง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจีนจะบังคับใช้กฎหมายจริงจังแค่ไหน
ตัวนิ่มกับโควิด-19
แม้จะยังไม่มีการยืนยันแน่ชัดว่าตัวนิ่มเป็นพาหะตัวกลางที่นำเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากค้างคาวมาสู่มนุษย์หรือไม่ เนื่องจากตัวนิ่มใช้ลิ้นกวาดกินแมลงตามพื้นดิน ทำให้อาจติดเชื้อโรคโควิด-19 จากมูลค้างคาวมาได้ แต่กลุ่มอนุรักษ์เชื่อว่านี่เป็นเหตุผลที่ทางการจีนลุกขึ้นมาเปลี่ยนสถานะของตัวนิ่มเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 และลบเกล็ดตัวนิ่มออกจากตำราแพทย์แผนจีน
"จะเรียกว่าเป็นข่าวดีของตัวนิ่มก็ได้" เจษฎา ทวีกาญจน์ ผู้จัดการโครงการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย WWF Greater Mekong ให้ความเห็นกับบีบีซีไทย
"การขึ้นบัญชีตัวนิ่มเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 และถอนตัวนิ่มออกจากตำรับยาแพทย์แผนจีนเป็นสัญญาณที่ดี แต่ถ้าไม่มีการบังคับใช้กฎหมายจริงจังก็จะไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไร"
เขาบอกว่าที่ผ่านมาทางกลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่าได้พยายามผลักดันให้ทางการจีนยกระดับสถานะตัวนิ่มไปอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 มานานหลายปี แต่ไม่สำเร็จ
"ผมหวังว่าทางการจีนจะใช้วิกฤตครั้งนี้สร้างความเปลี่ยนแปลง เพราะการบริโภคสัตว์ป่าในเมืองจีนเป็นความเชื่อและประเพณีที่ฝังรากลึกมาก หวังว่าโควิด-19 จะทำให้เกิดจุดเปลี่ยนในเรื่องนี้"
นายเจษฎาให้ข้อมูลว่า ตามตำรับยาจีน เกล็ดของตัวนิ่มมีสรรพคุณในการขับน้ำนม จึงนิยมนำมาบดผสมกับยาจีนให้แม่ลูกอ่อนรับประทาน ส่วนเนื้อของมันคนจีนก็นิยมรับประทานโดยเชื่อว่าเป็นอาหารอันโอชะ
เดิมที ตัวนิ่มจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 2 ซึ่งกฎหมายระบุว่าสามารถนำมาใช้ทางการแพทย์ได้ แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นสัตว์คุ้มครองประเภท 1 แล้วจะห้ามการใช้และบริโภคในทุกกรณี
"ถ้ามีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริง ๆ ก็จะลดทั้งอุปทานในตลาด ทำให้ของหายากขึ้น เมื่อหายาก ความต้องการซื้อก็จะลดลง เมื่อความต้องการลดลง การลักลอบนำเกล็ดตัวนิ่มเข้าไปเมืองจีนก็จะลดลง และการลักลอบนำตัวนิ่มเข้าจีนก็จะยากขึ้นอย่างแน่นอน" นายเจษฎาวิเคราะห์
เกล็ดอันมีค่าของตัวนิ่ม
เจ้าหน้าที่ WWF อธิบายว่าตัวนิ่มมีอยู่ 8 สายพันธุ์ทั่วโลก โดย 4 สายพันธุ์อยู่ในเอเชียและอีก 4 สายพันธุ์อยู่ในแอฟริกา ตามตำรับยาแพทย์แผนจีนต้องใช้ตัวนิ่มสายพันธุ์เอเชีย แต่เนื่องจากประชากรตัวนิ่มลดลงมาก จึงเริ่มมีการลักลอบค้าตัวนิ่มสายพันธุ์แอฟริกาแทน โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกใช้เป็นทางผ่านในการลักลอบขนตัวนิ่มจากแอฟริกาส่งไปจีน
ช่วงก่อนปี 2560 เจ้าหน้าที่ไทยยึดตัวนิ่มของกลางจากกลุ่มลักลอบค้าสัตว์ป่าได้เป็นจำนวนมาก ทั้งที่ส่งตรงมาจากประเทศในแอฟริกาอย่างเคนยาและไนจีเรียมาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ หรือส่งมาที่มาเลเซียแล้วลักลอบขนผ่านด่านชายแดนไทย-มาเลเซียทางถนน ส่งต่อไปลาวหรือเวียดนามเข้าจีน
นอกจากนี้ยังมีตัวนิ่มที่ถูกล่าจากป่าในมาเลเซียและอินโดนีเซีย เข้าไทยส่งไปจีนด้วย
หลังจากถูกนานาประเทศและกลุ่มนักอนุรักษ์สัตว์ป่ากดดันอย่างหนัก ทางการไทยได้ปรับปรุงมาตรการปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่า รวมทั้งตัวนิ่มอย่างจริงจัง มีการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมศุลกากรและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้การลักลอบค้าสัตว์ป่าในไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2561-2562 ไม่มีการจับกุมการลักลอบค้าตัวนิ่มในไทยเลย นายเจษฎาให้ข้อมูล
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการลักลอบค้าตัวนิ่มหมดไป
"โดยลักษณะของอาชญากรรมการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ จะมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางไปเรื่อย ๆ ถ้าประเทศไหนที่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ก็จะมีการเปลี่ยนเส้นทางไป ในกรณีของตัวนิ่ม เราพบว่ามีการย้ายเส้นทางการลับลอบขนส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและลาวแทน"
จากรายงานของ Wildlife Justice Commission พบว่าในปี 2562 มีการยึดเกล็ดตัวนิ่มในเวียดนามได้มากถึงเกือบ 60,000 กิโลกรัม ส่วนประเทศไทย ปี 2559 มีการยึดเกล็ดตัวนิ่มได้รวม 5,800 กิโลกรัม แต่ระหว่างปี 2560-2562 ไม่มีบันทึกการยึดของกลาง
อย่างไรก็ตาม นายเจษฎาบอกว่าขณะนี้ยังประเมินไม่ได้ว่าการยกสถานะความคุ้มครองและการถอนจากตำรับยาจะทำให้การลักลอบค้าตัวนิ่มลดลงขนาดไหน แต่ปลายปีนี้น่าจะเห็นสถานการณ์ชัดขึ้น
"ก้าวสำคัญของการอนุรักษ์ตัวนิ่ม"
กลุ่มอนุรักษ์นานาชาติต่างมีความหวังว่าการล่าและฆ่าตัวนิ่มเพื่อเอาเกล็ดและเนื้อจะลดลงจากการยกระดับความคุ้มครองและถอนออกจากตำรับยาจีนในครั้งนี้
พอล ทอมสัน จากกลุ่ม Save Pangolins บอกว่านี่เป็นสิ่งที่นักอนุรักษ์สัตว์ป่ารอคอยมานาน
"การถอนเกล็ดตัวนิ่มออกจากตำรับยาแผนโบราณของจีนจะเป็นผลดีอย่างใหญ่หลวงต่อการอนุรักษ์ตัวนิ่ม และนี่เป็นสิ่งที่เราเฝ้ารอกันมานาน" ทอมสันกล่าว พร้อมกับเรียกร้องให้ทางการจีนเดินหน้าต่อด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และรณรงค์เพื่อเปลี่ยนความเชื่อและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคสัตว์ป่าของประชาชน
แคทเธอรีน ไวส์ นักรณรงค์เพื่อสวัสดิภาพสัตว์บอกว่านี่เป็น "ข่าวดีมาก ๆ" แต่เธอบอกว่าแค่ยกระดับการปกป้องตัวนิ่มยังไม่พอ ทางการจีนต้องคุ้มครองสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ ในระดับสูงสุดด้วย เพราะสัตว์ป่าเหล่านี้ต่างถูกล่าจากป่า จับยัดในกรงแคบ ๆ มาขาย ซึ่งนอกจากจะเป็นการทารุณกรรมสัตว์แล้ว พวกมันยังอาจเป็นพาหะที่นำเชื้อโรคมาสู่มนุษย์อีกด้วย
"หลังจาก" - Google News
June 10, 2020 at 06:38PM
https://ift.tt/2BTaVIx
สัตว์ป่า: การลักลอบค้าตัวนิ่มอาจลดลงหลังจากจีนยกระดับความคุ้มครองและปลดจากตำรายาจีน - บีบีซีไทย
"หลังจาก" - Google News
https://ift.tt/3esKVCL
No comments:
Post a Comment