ความหวังของฝ่ายค้านในฮ่องกงที่จะชนะได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติต้องริบหรี่ลง เมื่อทางการฮ่องกงตัดสิทธิผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ 12 คน ที่เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย
ในกลุ่มผู้ที่ถูกห้ามลงสมัครรวมถึงนายโจชัว หว่อง และนายเลสเตอร์ ชุม นักเคลื่อนไหวชื่อดัง
สมาชิกฝ่ายค้านหวังว่ากระแสความไม่พอใจของชาวฮ่องกงหลังจากที่มีการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของจีน จะแปรเปลี่ยนเป็นคะแนนเสียงให้ได้ครองเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติในการเลือกตั้งเดือนก.ย.นี้
รัฐบาลฮ่องกงระบุว่า ผู้สมัครเหล่านี้ขาดคุณสมบัติ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภานิติบัญญัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ได้ เนื่องจาก:
- สนับสนุนหรือส่งเสริมฮ่องกงให้ได้เอกราช
- ขอให้รัฐบาลต่างประเทศเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของฮ่องกง
- แสดง "การคัดค้านในหลักการ" ต่อการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของรัฐบาลกลางจีนในกรุงปักกิ่ง
- แสดง "เจตนาในการใช้หน้าที่สมาชิกสภานิติบัญญัติในการจงใจลงมติคัดค้าน" ข้อเสนอทางกฎหมายใด ๆ ที่เสนอโดยรัฐบาลฮ่องกง "เพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลต้องทำตามข้อเรียกร้องทางการเมืองบางอย่าง"
ในแถลงการณ์ประกาศตัดสิทธินี้ รัฐบาลระบุว่า การตัดสินใจนี้เป็นไปตามกฎหมายพื้นฐาน หรือ อนุรัฐธรรมนูญของฮ่องกง
แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า "ไม่ได้เป็นเรื่องของการควบคุมทางการเมือง การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือการลิดรอนสิทธิ์ในการลงสมัครรับเลือกตั้งตามที่สมาชิกในสังคมบางส่วนกล่าวหา" นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า อาจจะมีการตัดสิทธิ์เพิ่มเติมอีก
สภานิติบัญญัติสำคัญอย่างไร
สภานิติบัญญัติ มาจากภาษาอังกฤษว่า Legislative Council ซึ่งคนฮ่องกงเรียกสั้น ๆ ว่า LegCo ทำหน้าที่บัญญัติและแก้ไขกฎหมายของฮ่องกง ประกอบด้วยสมาชิก 70 คน แต่ในจำนวนนี้มีเพียง 35 คนเท่านั้น ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
ส่วนอีก 30 คน เป็นผู้แทนของ "กลุ่มสาขาอาชีพต่าง ๆ" โดยกลุ่มที่เป็นตัวแทนของผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ภาคธุรกิจ ธนาคาร และการค้า จะลงคะแนนเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติในส่วนนี้เข้ามา โดยในอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักสนับสนุนรัฐบาลจีน
ส่วนอีก 5 คน มาจากสมาชิกสภาเขตที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชน
ผู้ไม่เห็นด้วยเรียกระบบเช่นนี้ ซึ่งมีสมาชิกเพียงบางส่วนที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนว่าไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ผู้ที่สนับสนุนระบบนี้บอกว่า มันช่วยไม่ให้เกิดลัทธิประชานิยมและปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจในฮ่องกง
ใครถูกตัดสิทธิ์บ้าง
โจชัว หว่อง ซึ่งก้าวขึ้นมามีชื่อเสียงในฐานะนักเคลื่อนไหวเยาวชน ในช่วงการประท้วงปี 2014 กล่าวว่า การตัดสินใจดังกล่าว แสดงให้เห็นถึง "การไม่เคารพเจตจำนงของชาวฮ่องกง" และ "เหยียบย่ำเสาหลักสุดท้ายของการปกครองตนเองที่กำลังเลือนหายไปของฮ่องกง"
กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในฮ่องกง ซึ่งเป็นอดีตอาณานิคมของอังกฤษ และขณะนี้เป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่ฮ่องกงได้รับเสรีภาพบางส่วนตามข้อตกลงก่อนการส่งมอบอธิปไตยของฮ่องกงคืนให้แก่จีน
รัฐบาลชาติตะวันตกหลายแห่งต่างประณามกฎหมายนี้ แต่จีนระบุว่า จำเป็นต้องใช้กฎหมายนี้เพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพในฮ่องกง ซึ่งถูกสั่นคลอนจากการประท้วงสนับสนุนประชาธิปไตยมานานหลายเดือนเมื่อปีที่แล้ว และบ่อยครั้งที่การประท้วงกลายเป็นความรุนแรง
ผู้สมัครฝ่ายค้านที่ถูกตัดสิทธิเมื่อวันที่ 30 ก.ค. รวมถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติ 4 คนที่ดำรงตำแหน่งอยู่ สมาชิกสภาเขต 4 คน รวมถึงนายชุม และนักเคลื่อนไหวคนอื่น ๆ นอกเหนือจากนายหว่อง คือ เวนตัส เลา วิง-ฮง, กวินเน็ท โฮ ไคว-แลม และอัลวิน เชง แคม-มุน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า พรรคซีวิก (Civic Party) หนึ่งในพรรคการเมืองที่สนับสนุนประชาธิปไตย ที่มีสมาชิกถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ระบุว่าการตัดสิทธิ์นี้ "เป็นการหาประโยชน์จากสิทธิ๋ในการออกเสียงของประชาชนชาวฮ่องกง"
สมาชิก 4 คนที่ถูกตัดสิทธิ์ของพรรคคือ อัลวิน ยอง, เดนนิส กวอก, กวอก คา-คี และ เชง แทต-ฮุง
เป็นไปตามคาด
เกรซ ชอย บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส ฮ่องกง
ก่อนหน้านี้ คาดกันว่าจะมีการตัดสิทธิ์ผู้สมัครที่สนับสนุประชาธิปไตยจำนวนมาก หลังจากที่ผู้สมัครรุ่นใหม่หลายคน ถูกห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติในปี 2016 การตัดสิทธิ์นี้เกิดขึ้นหลังฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยจัดการหยั่งเสียงเมื่อกว่า 2 สัปดาห์ก่อน และมีผู้ลงคะแนนมากกว่า 6 แสนคน
ผู้สมัครที่ถูกห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งหลายคน เป็นคนรุ่นใหม่และสนับสนุนการใช้กลยุทธ์การเผชิญหน้ามากขึ้นในการต่อสู้ตามความเชื่อของตัวเอง
แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ ผู้สมัคร 4 คนจากพรรคซีวิก ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มทนายความในปี 2006 ก็ถูกห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย พรรคนี้ถูกมองว่าเป็นพรรคสายกลางมากกว่าในฝ่ายเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย
มีการคาดกันว่า รัฐบาลกำลังวางแผนจะเลื่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติออกไป 1 ปี ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่
ผู้ไม่เห็นด้วยกล่าวว่า รัฐบาลต้องการเลื่อนการเลือกตั้งเพราะฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลจีนจะพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ เหมือนกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขตเมื่อปีที่แล้ว
อีกเหตุผลหนึ่ง รัฐบาลระบุว่า ผู้สมัครไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภานิติบัญญัติได้ ถ้าพวกเขาลงมติคัดค้านข้อเสนอใด ๆ และบังคับให้รัฐบาลต้องทำตามข้อเรียกร้องทางการเมืองหลังจากครองเสียงข้างมากในสภา คำถามต่อไปก็คือ ผู้สมัครจากฝ่ายค้านจะได้รับอนุญาตให้ลงสมัครรับเลือกตั้งในอนาคตหรือไม่
ที่การแถลงข่าวในฮ่องกง นายกวอก สมาชิกที่ร่วมก่อตั้งพรรคซีวิกกล่าวว่า เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลจีนกำลังพยายามจะปิดปากฝ่ายค้าน
"วันนี้ เรากำลังเห็นผลของการกดขี่อย่างไร้ความปราณี ที่รัฐบาลจีนกำลังเริ่มทำ ไม่เพียงแต่กำจัดสิทธิขั้นพื้นฐานและเสรีภาพที่ประชาชนชาวฮ่องกงเคยมีภายใต้กฎหมายพื้นฐานเท่านั้น...แต่พวกเขายังพยายามที่จะทำให้เกิดความหลาดกลัว และการกดขี่ให้เกิดขึ้นในหัวใจของเราด้วย และเราต้องไม่ยอมให้พวกเขาทำสำเร็จ"
นายคริส แพตเทน ผู้ว่าการฮ่องกงในสมัยที่เป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักรคนสุดท้าย กล่าวว่า รัฐบาลจีนกำลัง "กวาดล้างทางการเมืองอย่างรุนแรง"
"กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติกำลังถูกใช้ในการลิดรอนสิทธิของเสียงส่วนใหญ่ของพลเมืองของฮ่องกง ตอนนี้การเชื่อในประชาธิปไตยเป็นเรื่องผิดกฎหมายอย่างชัดเจน...นี่คือพฤติกรรมที่คุณจะเห็นได้ในรัฐตำรวจ" เขาระบุในแถลงการณ์
รอยเตอร์รายงานว่า สำนักงานผู้แทนระดับสูงของรัฐบาลจีนในฮ่องกง ระบุว่าทางสำนักงานสนับสนุนการตัดสิทธิ์นี้อย่างเต็มที่ และผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ต้องการจะทำให้รัฐบาลทำงานไม่ได้ และโค่นล้มอำนาจรัฐ
ท่ามกลางการคาดเดาว่า รัฐบาลอาจเลื่อนการเลือกตั้งเนื่องจากโควิด-19 นางแคร์รี แลม หัวหน้าผู้บริหารฮ่องกง กล่าวเมื่อวันที่ 29 ก.ค. ว่าฮ่องกงกำลังจะเข้าสู่ "การระบาดขนาดใหญ่" ที่อาจทำให้โรงพยาบาลหลายแห่ง "ไม่สามารถรองรับได้"
"หลังจาก" - Google News
July 31, 2020 at 07:23AM
https://ift.tt/3ff6sxN
ทำไมฮ่องกงห้ามผู้สมัครฝ่ายค้าน 12 คนลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ - บีบีซีไทย
"หลังจาก" - Google News
https://ift.tt/3esKVCL
No comments:
Post a Comment