ศาลอาญามีคำสั่งปล่อยตัว นายอานนท์ นำภา และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หลังจาก พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาล สำราญราษฎร์ ผู้ร้อง ยื่นคำร้องขอให้ยกเลิกการฝากขัง ผู้ต้องหาทั้งสอง โดยระบุเหตุผลในคำร้องว่าได้ทำการสอบสวนมาพอสมควรแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องขังผู้ต้องหาทั้งสองระหว่างการสอบสวนอีกต่อไป
ศาลพิจารณาแล้วให้หมายปล่อยผู้ต้องหาทั้งสอง โดยแจ้งเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครทราบแล้ว
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เวลา 17.20 น. ทั้งนายอานนท์ และนายภาณุพงศ์ ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังศาลอาญาให้หมายปล่อยผู้ต้องหาทั้งสอง โดยทั้งสองถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำเป็นเวลาทั้งหมด 5 วัน
คำสั่งดังกล่าว เป็นผลมาจากเมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา ศาลอาญานัดไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ ฝ 971/2563 และ คดีหมายเลขดำที่ ฝ 972/2563 ที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ ผู้ร้อง ยื่นคำร้อง ขอให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวนายอานนท์ นำภา และนายภาณุพงศ์ จาดนอก ผู้ต้องหาทั้งสอง สืบเนื่องมาจากในวันที่ 8 ส.ค. ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองและอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสอง โดยมีเงื่อนไขห้ามกระทำการใด ๆ ในลักษณะเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนั้นอีก ภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าว นายอานนท์ และนายภานุพงศ์ ได้กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขของศาลที่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
ทนายความผู้ต้องหาทั้งสองยื่นคำคัดค้าน คำร้องของพนักงานสอบสวนดังกล่าว หลังจากนั้นศาลไต่สวนคำร้องของพนักงานสอบสวน ศาลมีคำสั่งให้ เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวของนายอานนท์
ในส่วนของนายภาณุพงศ์ ศาลได้พิเคราะห์ ถึงอายุ อาชีพ และพฤติการณ์แห่งการกระทำที่ถูกกล่าวหา ให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวโดยได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้มีประกันในวงเงินเพิ่มเป็น 200,000 บาท โดยไม่ต้องมีหลักประกัน และให้นายภาณุพงศ์ มารายงานตัวทุก 15 วัน ต่อมาผู้ต้องหาทั้งสองไม่ได้ยื่นคำร้อง ขอปล่อยชั่วคราวเข้ามาใหม่ ศาลจึงให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราว และรับตัวไว้หมายขังไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครนับตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแสกดดันทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อกรณีการดำเนินคดีผู้ชุมนุมทางการเมือง ในขณะที่ทางรัฐบาลพยายามอธิบายถึงเหตุผลว่าปฏิบัติไปตามกฎหมาย บีบีซีไทยรวบรวมปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นระหว่างภาครัฐและสังคมดังนี้
ข้อเรียกร้องและความเคลื่อนไหวของแอมเนสตี้ฯ
ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกมารณรงค์ให้สมาชิก นักกิจกรรม และผู้สนับสนุนกว่า 8 ล้านคนทั่วโลกร่วมกันส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยข้อเรียกร้องหลัก ๆ คือ ต้องการให้ทางการไทยยกเลิกข้อหาต่อผู้ชุมนุมทั้ง 31 คน พร้อมกับยุติการขัดขวางการเข้าร่วมชุมนุมของประชาชนหรือปิดปากเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและการแสดงความเห็นในประเด็นทางสังคม
นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายที่มีเนื้อหากำกวมหรือคลุมเครือ เพื่อให้กฎหมายเหล่านี้มีเนื้อหาสอดคล้องกับพันธกิจของประเทศที่จะเคารพ คุ้มครอง และเติมเต็มสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ โดยการรณรงค์นี้จะมีไปถึงวันที่ 21 ต.ค.นี้
"ทั้ง 31 คนถูกดำเนินคดีในข้อหาร้ายแรงรวมทั้งยุยงปลุกปั่น ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหากำกวมและจำกัดเสรีภาพ ที่รัฐบาลมักใช้เพื่อปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์ หากศาลตัดสินว่ามีความผิด นักกิจกรรมแต่ละคนอาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดเจ็ดปี การจับกุมผู้ชุมนุมอย่างสงบที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ แสดงให้เห็นถึงการปราบปรามเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ที่เข้มข้นขึ้น"
กต. ปัดปมปิดกั้นการแสดงออก
หลังจากมีข้อเรียกร้องดังกล่าวของแอมเนสตี้ฯ ทำให้กระทรวงการต่างประเทศออกมาชี้แจงในวันนี้ (7 ก.ย.) โดยปฏิเสธการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล พร้อมยังอนุญาตให้มีการจัดการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษาและประชาชนหลายครั้งในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคี
"อย่างไรก็ดี การใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายและต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นด้วย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของรัฐ ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ที่ไทยเป็นภาคี" แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศระบุ
นอกจากนี้ กระทรวงต่างประเทศยังระบุว่า รัฐบาลสนับสนุนการใช้เสรีภาพในการแสดงออกที่สร้างสรรค์ ไม่ก้าวร้าวหรือมีลักษณะดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่น หรือใช้คำพูดที่สร้างความเกลียดชังอันเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น
ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดูแลการชุมนุมให้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย โดยใช้ความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ และรักษาความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมชุมนุมและประชาชนที่สัญจรในบริเวณที่ชุมนุม
สำหรับกรณีการดำเนินคดีผู้ชุมนุมบางรายนั้น กระทรวงการต่างประเทศเปิดเผยว่าเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายและพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ละเมิดกฎหมาย โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด ขณะเดียวกันผู้ถูกกล่าวหาสามารถต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม
เครือข่ายนักวิชาการ ชี้ศาลต้องรับใช้ประชาชน ปมถอนประกัน อานนท์-ไมค์
จากประเด็นที่ศาลอาญาถอนประกันตัวนายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ส่วนกรณีของนายภาณุพงศ์ จาดนอก แกนนำกลุ่มเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย ทำผิดเงื่อนไขประกันจริง แม้ศาลจะมีคำสั่งเพิ่มเงินประกัน แต่นายภาณุพงศ์ยืนยันไม่ขอยื่นประกันตัวและศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกันด้วย โดยทั้งสองถูกส่งตัวเข้าเรือนจำตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น
ล่าสุดวันนี้ (7 ก.ย.) เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ออกแถลงการณ์เรียกร้อง 3 ประการ ประกอบด้วย การขอให้ศาลใช้อำนาจถ่วงดุลกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อปกป้องประชาธิปไตย โดยไม่ให้เป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ขอให้ศาลตระหนักถึงการใช้อำนาจในนามของประชาชน รวมทั้งเรียกร้องให้มีการปฏิรูปองค์กรตุลาการ
ตร. แจงดำเนินคดีแกนนำการชุมนุมตามหลักฐาน
ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ออกแถลงการณ์เช่นกันในวันนี้เพื่อชี้แจงสาเหตุการดำเนินคดีกับแกนนำผู้ชุมนุม โดยระบุว่า จากการรวบรวมพยานหลักฐานและการพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ปรากฏหลักฐานตามสมควรว่า การทำกิจกรรมที่ผ่านมาดังกล่าว เป็นการกระทำผิดที่มีโทษทางอาญา และเป็นกรณีที่จะขออนุมัติศาลออกหมายจับได้ พนักงานสอบสวนจึงได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อออกหมายจับ ซึ่งศาลได้อนุมัติหมายจับให้ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เว้นแต่แกนนำบางราย ซึ่งได้มีการทำผิดเงื่อนไขสัญญาประกัน ศาลจึงได้มีการเรียกไต่สวน และถอนประกัน
"การดำเนินคดีกับแกนนำจัดกิจกรรม เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย" เอกสารข่าวระบุ
"หลังจาก" - Google News
September 07, 2020 at 05:30PM
https://ift.tt/35dkY7Z
ศาลมีคำสั่งปล่อยตัว “อานนท์ นำภา” - “ภาณุพงศ์ จาดนอก แล้ว - บีบีซีไทย
"หลังจาก" - Google News
https://ift.tt/3esKVCL
No comments:
Post a Comment